วันพุธที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2554

เคล็ดลับช่วยสุขภาพดีด้วยการงดทานอาหารเย็น

อาหารเพื่อสุขภาพ
งดอาหารเย็นเพื่อสุขภาพ

ปัจจุบันมีจำนวนประชากรผู้สูงอายุร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด และมีการคาดคะเนว่าในอีก 13 ปีข้างหน้า จะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 17 จากสถิติดังกล่าว ยืนยันว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้าสังคมไทยจะกลายเป็นผู้สูงอายุ เพื่อเตรียมพร้อมให้ผู้สูงอายุเป็น "ผู้สูงวัยที่มีคุณภาพ" สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยฯ โดยคณะกรรมการพัฒนาผู้สูงอายุจึงจัดเสวนาเรื่อง "เวทีแลกเปลี่ยนความคิด ใช้ชีวิตเมื่อสูงวัย" ที่สภาสังคมสงเคราะห์ฯ

ศ.นพ.เสก อักษรานุเคราะห์ ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู สภากาชาดไทย ได้เผยเคล็ดลับสุขภาพดีที่ปฏิบัติมานับสิบปีจนตอนนี้อายุ 74 ปีว่า ยึดทางสายกลาง ไม่จำเป็นต้องมีสุขภาพดีเลิศ แค่ดูแลร่างกายให้ไม่เจ็บป่วยก็พอ ด้วยการไม่รับประทานอาหารเย็น และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยออกกำลังกายเบาๆ อย่างต่อเนื่องไม่หยุด 30 นาที เพียงแค่นี้จะช่วยลดประมาณน้ำตาลในเลือดและไขมันทุกชนิดได้

" ร่างกายคนเรารับประทานอาหารแค่ 2 มื้อ เหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ คือเช้ากับเที่ยงก็พอ เพราะกินมากกว่านั้นมันเกินความต้องการของร่ายกาย ซึ่งตลอด 40 ปีที่ผมไม่กินข้าวเย็นจนถึงตอนนี้สุขภาพยังคงแข็งแรงดี ทำอะไรได้ทุกอย่าง ทั้งทำงาน ออกกำลังกาย ผมเดินวันละ 3-5 กิโลเมตร เล่นเทนนิสได้ การไม่กินอาหารเย็นเป็นการฝึกฝนให้เราชนะใจตัวเอง รู้จักพอเพียงกับชีวิต และตัดกิเลสได้"

ศ.นพ.เสกแนะ นำวิธีฝึกตนให้งดอาหารเย็นง่ายๆ จากประสบการณ์ของตนเองว่า ค่อยๆ ลดปริมาณอาหาร ส่วนตอนค่ำถ้าหิวก็ดื่มน้ำ ฝึกอย่างนี้ประมาณ 2 ปีจนกระเพาะชิน หลังจากนั้นก็ทำได้โดยไม่ต้องฝืน

แต่ ถ้าทำไม่ได้ อีกวิธีคือรับประทานเม็ดแมงลักเป็นอาหารเย็น โดยนำเม็ดแมงลักมาทำความสะอาด แล้วนำไปอบในเตาอบความร้อน 120 องศา เวลา 20 นาที จากนั้นตักเม็ดแมงลัก 2-3 ช้อนโต๊ะใส่ลงให้น้ำแกงจืด แล้วรับประทาน วิธีนี้ใช้ได้ผลกับผู้ที่อยากลดน้ำหนักด้วย ในระยะเวลา 1 เดือนน้ำหนักจะลดลงประมาณ 3-4 กิโลกรัม แต่ถ้าใครไม่ชอบเม็ดแมงลัก สามารถรับประทานแก้วมังกรแทนได้ ส่วนผู้สูงอายุที่งดอาหารเย็นไม่ได้ เพราะมีโรคประจำตัวต้องกินยาหลังอาหาร ให้รับประทานอาหารมังสวิรัติแทน

ส่วน ผศ.ดร.วิรชฎา บัวศรี คณะกรรมการพัฒนาผู้สูงอายุ ได้แนะนำการเตรียมความพร้อมก่อนสูงวัยว่า ต้องเตรียมพร้อมด้านสุขภาพ ควรดูแลด้วยการตรวจเช็คสภาพร่างกายอยู่เสมอ ด้านการเงินควรเตรียมพร้อมออมเงินตั้งแต่เนิ่นๆ ประมาณ 30 ปีขึ้นไป ด้านที่อยู่อาศัย เมื่อเข้าสู่วัย 50 ปี ควรวางแผนว่าบ้านหลังสุดท้ายจะอยู่ที่ไหน อยู่อย่างไร เช่น บ้านต้องอยู่ติดกับโรงพยาบาล หรืออยู่ติดกับแหล่งชุมชน สุดท้ายเรื่องภาระครอบครัว ต้องวางแผนเรื่องการดูแลคนในครอบครัวหรือวางแผนให้มีคนมาดูแล

เพียงแค่ดูแลร่างกายให้มีสุขภาพแข็งแรงและสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ก็เป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพแล้ว...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น