วันพุธที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เจ๊กเม้ง ก๊วยเตี๋ยวไอเดียเก๋ ใช้กลยุทธออนไลน์ facebook ทำการตลาด


แม้จะไม่ถึงขั้นโด่งดังชั่วข้ามคืน แต่ระยะเวลาแค่ 3 ปีเศษในการเริ่มต้น ปรับ-เปลี่ยน-สร้าง วันนี้ชื่อหรือแบรนด์ของ ก๋วยเตี๋ยวเมืองเพชรบุรี “เจ๊กเม้ง” กลายเป็นกรณีศึกษาที่คนประกอบอาชีพอิสระ แวดวง SMEs ต่างกล่าวขวัญถึงความสำเร็จ จนถูกดึงไปออกรายการ SMEs ตีแตก มาแล้ว

ด้วยเส้นทางการเติบโตที่แตกต่าง สไตล์ คนรุ่นใหม่ ความกล้าคิด กล้าทำ และประยุกต์ใช้ทั้ง คุณภาพ-บริการ-สื่อสารสมัยใหม่ รูปแบบการทำธุรกิจก๋วยเตี๋ยวออนไลน์ มัดใจลูกค้าด้วย CRM+socialnetwork “ไอซ์” ธีรศานต์ สหัสสพาศน์ ถ่ายทอดวิธีคิดของเขาอีกครั้งกับ “เส้นทางเศรษฐี” พร้อมกับยืนยันจุดยืนที่ว่า ถ้ากล้าเปลี่ยน-ทุกอย่างเป็นไปได้เสมอ


จากร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อธรรมดาๆ ที่ลูกค้าสามารถเลือกหาร้านกินได้ทั่วไปในตัวเมืองเพชรบุรี วันนี้ ร้านก๋วยเตี๋ยว “เจ๊กเม้ง” กลายเป็นร้านก๋วยเตี๋ยวอินเทรนด์ที่ นักท่องเที่ยว คนรุ่นใหม่จากกรุงเทพฯ “ต้องแวะ” หากสุดสัปดาห์นั้นผ่านไปในเส้นทาง เพชรบุรี-ชะอำ-หัวหิน-ปราณบุรี

จากรูปแบบสูตรสำเร็จในอดีตที่มักต้องเป็นร้านเก่าแก่ ชื่อดัง มีตราประทับรับรองความอร่อย ถูกแนะนำโดยหนังสือ นิตยสารชื่อดัง หรือต้องลงทุนให้รายการโทรทัศน์พร้อมพิธีกร ระดับดารามาเป็นพรีเซ็นเตอร์ “เจ๊กเม้ง” ปฏิวัติการสร้างชื่อและสร้างแบรนด์ด้วยวิธีการใหม่ๆ แบบคนรุ่นใหม่ พร้อมกับการใช้เครื่องมือสื่อสารที่ทันสมัยล้วนๆ

จากจุดเริ่มต้นที่มีเพียงแค่ ก๋วยเตี๋ยวเนื้อ-ลูกชิ้น ขายอยู่ในห้องแถวคูหาเดียวที่เพชรบุรี วันนี้ “เจ๊กเม้ง” ต่อยอดกลายเป็นร้านอาหารที่มีทั้งเมนูพื้นฐาน และสร้างสรรค์สูตรอาหารฟิวชั่น เพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้า หลากหลายรายการ และยังเปิดช่องทางการขายผ่านระบบออนไลน์ ส่งสินค้าดีลิเวอรี่ถึงที่ให้กับลูกค้าที่แค่คลิกสั่งรายการและโอนเงินผ่านระบบธนาคารที่แสนสะดวก

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมานี้ก็คือ “ไอซ์” ธีรศานต์ สหัสสพาศน์ คนหนุ่มวัยเพิ่งเลยเบญจเพสมาไม่นานนัก คนที่กำลังจะกลายเป็นโมเดลต้นแบบให้คนรักธุรกิจอิสระอยากก้าวเดินและทำให้ได้แบบเขา

ธีรศานต์ หรือ “ไอซ์” เล่าสรุปอย่างรวบรัดว่า จุดเปลี่ยนที่สำคัญเกิดขึ้นเมื่อเขาเห็นร่วมกันกับครอบครัวว่า น่าจะปรับ พัฒนา และคิดใหม่ กับธุรกิจดั้งเดิมของครอบครัว ร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อ “เจ๊กเม้ง” ที่ทำกิจการสืบทอดกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2499

“ตอนที่ผมเข้ามารับช่วงเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ผมมองว่า ถ้าเราทำร้านแบบเดิมๆ มันคงไม่แตกต่างกับร้านอื่นๆ ที่อยู่ในละแวกเดียวกัน อำเภอเดียวกัน จังหวัดเดียวกัน หรือว่าประเทศเดียวกัน ดังนั้น จุดแรกที่ผมคิดคือ
1. จุดแข็งที่ชัดเจน ควรมีอาหารที่ได้มาตรฐานรสชาติที่ดี สำหรับคนส่วนใหญ่ เพราะคงไม่สามารถทำอาหารให้ถูกใจได้ทุกคน ฉะนั้น ต้องทำให้คนส่วนใหญ่โอเคกับเรา

2. การบริการ ต้องทำให้เร็ว นอบน้อม พูดจาต้องดี อย่าไปทะเลาะกับลูกค้า เหล่านี้เป็นพื้นฐานของธุรกิจในแบบของผม

3. เมื่อทำจุดนี้แข็งแล้ว ก็มาใช้สื่อทางสังคมออนไลน์ หรือ โซเชี่ยล เน็ตเวิร์ก ให้เป็นเครื่องมือ เสริมต่อทั้งสินค้าและการบริการของเรา จากนั้นลูกค้าจะเป็นคนช่วยพูดต่อ ซึ่งตรงนี้มันเป็นแค่จุดเริ่มต้นที่ทำให้คนยอมรับ”
นั่นเป็นกุญแจสำคัญในการปรับเปลี่ยนที่ทำให้เกิดการ ออกแบบ ตบแต่ง สร้างแบรนด์ สร้างบุคลิกของร้านใหม่ทั้งหมด พร้อมกับผสมผสานทั้งจุดแข็งดั้งเดิม นั่นคือ สโลแกนที่ว่า “เจ๊กเม้ง ก๋วยเตี๋ยวเนื้อต้นตำรับเพชรบุรี” ที่จะยังบ่งบอกความโดดเด่นและเป็นที่รู้จักของลูกค้ากลุ่มเดิม

จากนั้นก็ค่อยๆ เพิ่มจุดแข็งใหม่ๆ เช่น เมนูอาหารที่หลากหลาย พร้อมกับการบริการที่นำมาเป็นจุดโฆษณาของร้านจนเริ่มเป็นที่รู้จักขยายวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะประเด็น “หน้าไม่งอ รอไม่นาน”

  กล้าคิด-กล้าเปลี่ยน            
   เรียนรู้ความต้องการลูกค้า   
สิ่งที่ ธีรศานต์ หรือ “ไอซ์” ตั้งหลักหรือตั้งต้นได้ตรงเป้าและเดินหน้าสู่การเปลี่ยนแปลงได้อย่างไม่ผิดทิศผิดทาง นั่นคือ ความละเอียดรอบคอบในการศึกษา “ลูกค้า”

จนกระทั่งนำไปสู่กระบวนการ กำหนดกลุ่มเป้าหมายและกำหนด “โพสิชั่น” หรือจุดแข็งใหม่ของร้าน เจ๊กเม้ง ได้อย่างแม่นยำ

“ตอนแรกที่ร้านมีก๋วยเตี๋ยวแค่อย่างเดียว แต่เราต้องมองตลาดของตัวเราเองให้ออกด้วยว่า จะขายใคร เพราะว่า ถ้าขายคนในพื้นที่เพียงอย่างเดียว วันหนึ่งคงขายได้ 1,000-2,000 บาท ถ้าขายดีอย่างดี 5,000 เต็มที่ ผมมองว่าถ้าทำอย่างนั้นเหนื่อยแน่ๆ”

กลุ่มเป้าหมายใหม่ที่จะสร้างรายได้เพิ่มคือ กลุ่มนักท่องเที่ยว และสิ่งที่ลูกค้ากลุ่มนี้ต้องการก็คือ การจัดชาม อาหาร ต้องดูดี น่าประทับใจ การพูดจาของพนักงานในร้านต้องสุภาพอ่อนน้อม 

“จากจุดตรงนี้ จึงเป็นที่มาของสโลแกนร้านว่า “หน้าไม่งอ รอไม่นาน” พอเราทำให้ลูกค้าประทับใจได้ มาถึงขั้นตอนของการตกแต่งร้าน ให้อินเทรนด์มากขึ้น เมนูเดิมเท่าที่มีในร้าน ถ้าจะขายนักท่องเที่ยวด้วยคงไม่พอ ยกตัวอย่าง ครอบครัวเดินทางกันมา 3 คน พ่ออยากกินก๋วยเตี๋ยว แม่อยากกินข้าว ส่วนลูกอยากกินอาหารเด็กๆ นี่จึงเป็นที่มา ของการทำเมนูหลากหลาย มีก๋วยเตี๋ยวหมู ก๋วยเตี๋ยวเนื้อ ข้าวต่างๆ สรุปคือ เมื่อรู้ว่ามี “นักท่องเที่ยว” เป็นอีกหนึ่งกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลัก นอกเหนือจากนักท่องเที่ยวแล้ว ผมจึงมาปรับวิธีคิด ปรับกระบวนการ ปรับผลิตภัณฑ์ ปรับการบริการ ปรับเรื่องพนักงาน

ผลลัพธ์ที่ได้น่าพอใจมากขึ้นเป็นลำดับ จากเดิมที่เคยสำรวจอายุลูกค้า พบว่า เฉลี่ยแล้ว 40 ปีขึ้นไป ซึ่งกินก๋วยเตี๋ยวชามเดียว+น้ำเปล่า ค่าใช้จ่ายต่อคน ไม่เกิน 50 บาท กลายเป็นผู้บริโภคกลุ่มใหม่ที่กำลังซื้อมหาศาล
“พอลูกค้าเปลี่ยนไป เป็นพวกนักท่องเที่ยวนี่ มาไกลไงครับ มาทีก็สั่งกันแบบเต็มเหนี่ยว จานแรกก๋วยเตี๋ยว ต่อมาเป็นข้าว ของหวาน ลวกจิ้ม น้ำผลไม้ ซื้อของกลับบ้านอีก เราเลยออกแบบร้านให้ถูกกับความชอบของลูกค้าที่จะทำรายได้ที่สุดให้กับร้านเรา

รับช่วงต่อมาประมาณ 3 ปี ลูกค้าเพิ่มขึ้นเห็นได้ชัด อย่างวันธรรมดา อยู่ที่ 200-300 คน ถ้าเป็นช่วงวันหยุด ศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ อย่างต่ำประมาณ 500-600 คน ช่วงวันหยุดยาว ประมาณ 800 คน เคยพีคสุดถึง 1,100 คน มาแทบขี่คอกันกินเลย”

  เคล็ดลับจุดกระแส “ปากต่อปาก”  
หลังจากปรับเปลี่ยนธุรกิจ และตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มใหม่ได้ตรงเป้าแล้ว ปัจจัยความสำเร็จที่หนุนส่งต่อไปอีกขั้นหนึ่งนั่นคือ การสร้างกระแสให้เกิดการ “บอกต่อ” หรือทำให้เกิดกลยุทธ์การประชาสัมพันธ์แบบ “ปากต่อปาก”

และด้วยความเป็นคนรุ่นใหม่ เขาจึงดึงเอาศักยภาพของ เว็บไซต์ การสื่อสารผ่านระบบออนไลน์ การสื่อสารผ่านเครือข่ายโซเชี่ยล เน็ตเวิร์ก มาเป็นพลังขับเคลื่อนให้ความนิยมต่อร้าน เจ๊กเม้ง ขยายออกไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงกลยุทธ์ง่ายๆ ที่แค่ ขยันคิด ขยันทดลองทำเท่านั้นเอง

“ผมลงรายละเอียดถึงพฤติกรรมจริงของลูกค้า อย่างลูกค้าที่มาถ่ายรูปที่ร้าน เวลาเห็นรูปถ่ายของเพื่อนฝูง มักต้องถามว่า ไปถ่ายรูปที่ไหนกันมา เพราะหลายสถานที่ มันไม่ได้มีเอกลักษณ์บ่งบอกที่คนทั่วไปจะรู้จัก

ผมจึงพยายามตกแต่งร้านให้ ไม่ว่าเข้าบิดซ้าย บิดขวา ยกหน้า ยกหลัง กล้อง จะติดโลโก้ร้าน “เจ๊กเม้ง” ทุกรูป พอเขาเอารูปไปโพสต์ผ่านโซเชี่ยล เน็ตเวิร์ก ตัวรูปจะบ่งบอกว่าเขามากินที่ไหน อย่าง กล่องตะเกียบ มีโลโก้ร้านแปะไว้ เวลานั่งที่โต๊ะ ถ่ายไปยังไงก็เห็นชื่อร้าน ผนังร้าน ก็มีแบ็กกราวนด์”

ด้วยพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ในลักษณะดังกล่าว ความตื่นเต้น อยากแวะมาเยี่ยม หรือชิมร้านเจ๊กเม้งสักครั้ง จึงไม่ต่างไปจากกระแสบูมของสถานที่ยอดฮิตอย่าง ตลาดน้ำอัมพวา, เพลินวาน หัวหิน, ปาลีโอ้ เขาใหญ่ ฯลฯ
อีกมุมหนึ่งที่ ไอซ์ คิดต่างกับคนทำร้านอาหารทั่วไป นั่นคือ แทนที่จะติดรูปดารามากินที่ร้าน เขาแปะรูปลูกค้าสารพัดกลุ่มที่เคยมากินแทนบนผนังของร้านนั่นแหละ

“เวลาเราไปร้านอื่นมักเห็นรูปดารามาปิดไว้เยอะแยะ แต่ผมคิดกลับกัน ดารา นานๆ เขามีที ปีหนึ่งมาครั้ง หรืออาจจะมาครั้งเดียวและไม่มาอีกเลย แต่ลูกค้าของเราจะมากินกันบ่อยๆ ดังนั้น ถ้าเราเอารูปลูกค้ามาแปะไว้ที่ร้าน พวกเขาจะมีความภูมิใจว่าเราให้ความสำคัญกับเขา เอามารวมอัลบั้มภาพ คนไหนเปิดเจอรูปตัวเอง ก็จะได้ของหวานฟรี อะไรแบบนี้ ซึ่งลูกค้าจะส่งรูปมาให้เราเยอะขึ้นเรื่อยๆ แล้วเราก็เอามาทำเป็นเอ็มวีเปิดในร้าน”
ด้วยวิธีคิดที่แสนขยันบวกกับความชำนาญในการใช้เครือข่าย โซเชี่ยล เน็ตเวิร์ก กระแสบอกต่อร้านก๋วยเตี๋ยว “เจ๊กเม้ง” จึงขยายวงออกมาเรื่อยๆ

  ต่อยอดความสำเร็จ           
  พัฒนาระบบขายออนไลน์  
แม้วันนี้ ดูเหมือนร้านก๋วยเตี๋ยว “เจ๊กเม้ง” จะก้าวกระโดดมาได้ไกลพอสมควรจากจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา แต่กับวิธีคิดของ “ไอซ์” ธีรศานต์ เขายังพอใจที่จะค่อยๆ ขยับไปทีละขั้น ทีละก้าวแบบไม่รีบร้อนหรือเร่งโต

“เจ๊กเม้ง” จึงยังไม่ขยายไปเปิดสาขาในกรุงเทพฯ หรือที่อื่นๆ และยังไม่เปิดเป็น แฟรนไชส์ เหมือนอีกหลายๆ ธุรกิจที่มักเลือกเส้นทางแบบนั้น

“ไอซ์” ธีรศานต์ ยอมรับว่า เขายังอยากสร้างฐานที่มั่นคง ทั้งในเรื่องของการพัฒนาอาหาร เมนูต่างๆ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรให้พร้อมจนมั่นใจจริงๆ เสียก่อน ดังนั้น จุดที่กำลังลงทุนขยายเพิ่มจึงเป็นการสร้าง สถาบันอาหารและผลิตบุคลากร ในบริเวณใกล้ๆ กันกับร้านเจ๊กเม้งนั่นเอง

“ตั้งใจ จะให้เป็น “ครีม คิวซีน” ให้น้องชายของผมเปิดสอนทำอาหาร และทำเป็นร้านขายของฝาก ขายเครื่องครัว เครื่องใช้ พริก น้ำปลา น้ำพริกเผา เพราะส่วนใหญ่ลูกค้ามากินก๋วยเตี๋ยวที่ร้าน มักมาขอซื้อ ซอสพริก พริกกะเหรี่ยง น้ำตาลโตนด น้ำผลไม้ จึงอยากจัดโซนให้ชัดเจน แล้วก็ใช้เป็นที่ฝึกคนของเราทั้งทำอาหารและบริการในร้านด้วย”

ควบคู่ไปกับการทุ่มเทขยายช่องทางจำหน่ายผ่านระบบออนไลน์ให้เต็มที่มากยิ่งขึ้น

“ในอนาคต เราสามารถพึ่งพายอดขายได้โดยไม่ต้องพึ่งพาหน้าร้านเลย เพราะว่าลูกค้าสามารถสั่งอาหารออนไลน์ได้ สามารถสั่งผ่านเว็บไซต์ “ตลาดดอตคอม” โดยเราจะไป แอดสินค้าเพิ่มเข้าไป ลูกค้าสั่งออนไลน์ ชำระเงินผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิสได้เลย

และตอนนี้กำลังนำร่องการรับจัดเลี้ยงนอกสถานที่ หากลูกค้าสั่งสินค้า 3,000 บาท ขึ้นไปแล้วอยากจ่ายบัตรเครดิต เราให้ผ่อนชำระได้ 10 เดือน ดอกเบี้ย 0 เปอร์เซ็นต์ หรือจะจ่ายผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิสก็ได้ หรือจะจ่ายผ่านโทรศัพท์มือถือก็ได้ เราเปิดช่องให้ลูกค้าติดต่อเราได้ง่ายที่สุด”

นั่นคือเป้าหมายลำดับถัดไปในการต่อยอดความสำเร็จ ของร้านก๋วยเตี๋ยวที่ไม่เคยหยุดคิด และกล้าที่จะสร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆ ให้เห็นกันมากขึ้นๆ ในอนาคตอันใกล้นี้

................................................................ 

  ใส่ใจทุกรายละเอียด  
เพราะความที่เป็นร้านก๋วยเตี๋ยวในคอนเซ็ปต์ขยันคิด รายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ ในการดูแลคุณภาพอาหาร การบริการ หรือการสื่อสาร ปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า จึงถูกให้ความสำคัญในทุกจุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทคนิคของลูกจ้าง-พนักงานในร้าน

“ผมยกตัวอย่าง เช่น ลูกน้องตอนยืน ตอนรับออร์เดอร์ ควรยืนห่างจากโต๊ะลูกค้าประมาณ 1 ศอก เพราะถ้าใกล้เกินไป จะทำให้ลูกค้าอึดอัด เหมือนกับไปกดดัน แล้วลูกค้าจะรำคาญ ลึกๆ แล้วพฤติกรรมคนมันมีรายละเอียดหลายอย่าง เวลาผมไปที่ไหน แล้วไม่ชอบใจอะไรก็จะจดๆ เอาไว้ แบบนี้ ไม่ควรทำ อันนี้ห้าม

การพูดคุยกับลูกค้า ลูกน้องของเราส่วนใหญ่เป็นคนท้องที่ เรียนมาน้อย บางทีเขาพูดอะไร พูดตรงๆ ลูกค้าที่ร้านบางคนอาจไม่ชอบ ดังนั้น บางคนจะถูกห้ามคุยกับลูกค้าเลย คือ จะดูบุคลิก คนนี้ห้ามตอบอะไรลูกค้าเลยนะ แค่ถ้ามีใครถาม ไปเรียกอีกคนมาตอบเลย เพราะถ้าตอบหรือพูดอะไรผิดๆ ออกไป ลูกค้าเขาจำ แล้วไปบอกต่อ แย่เลย

นอกจากนี้ ยังมีเทคนิคการเสิร์ฟอาหาร คือ โดยพฤติกรรม อาหารเรามีการจัดชามสวยงามอยู่แล้วใช่มั้ยครับ พอตอนเดินไปเสิร์ฟที่โต๊ะ จะฝึกให้เด็กถือถาดอาหารระดับเข็มขัด หรือสูงขึ้นมาหน่อยหนึ่ง เพราะสะดวกมือที่สุด เวลาเดินผ่าน จะมีลูกค้าโต๊ะอื่นเหลือบมามอง ว่าถืออะไรมาใช่มั้ยครับ จังหวะนี้เองที่ผมจะฝึกให้ลูกน้องเดินแบบสโลว์โมชั่นเล็กน้อย”
    
................................................................. 

  ใช้สารพัดสื่อสร้างชื่อ  

การได้ออกสื่อที่สร้างชื่อได้ในระดับประเทศอย่างการออกรายการ “SMEs ตีแตก” สำหรับธุรกิจทั่วไป เจ้าของกิจการขนาดเล็กอาจรู้สึกเป็นเรื่องไกลเกินจะฝัน แต่ลึกลงไปในเส้นทางที่ ก๋วยเตี๋ยว เจ๊กเม้ง ก้าวไปสู่โอกาสที่ใครๆ ก็อิจฉานั้น โอกาสที่เกิดขึ้นไม่ได้มาเพราะโชคช่วย แต่เป็นผลจากความพยายามในการ “สร้างชื่อ” และขยันคิดในการเลือกใช้สื่อทุกวิถีทางเพื่อ โปรโมต ประชาสัมพันธ์แบรนด์ของเจ๊กเม้ง

“บางจุดที่คนก็นึกไม่ถึงคือ ถุงที่ใส่ก๋วยเตี๋ยว ส่วนใหญ่จะสกรีนแต่เฉพาะถุงหิ้ว หรือถุงก๊อบแก๊บ แต่พอไปถึงมือคนสั่ง ถุงนั้นหายไปแล้ว เราก็แค่ทำสติ๊กเกอร์ติดลงบนถุงใส่ก๋วยเตี๋ยว แค่นี้ก็มั่นใจได้ว่า คนแกะถุงกินก๋วยเตี๋ยวต้องเห็นแบรนด์ เห็นเบอร์โทรศัพท์เราแน่ๆ

ทำเป็นสติ๊กเกอร์หลายสี แปะไปที่ถุงก๋วยเตี๋ยวเลย พอเขาเทก๋วยเตี๋ยวออกแล้ว อาจแกะสติ๊กเกอร์นั้นไว้ที่สมุด ไว้ที่ปฏิทิน ไว้ที่โต๊ะทำงาน ซึ่งในสติ๊กเกอร์นั้น จะมีเบอร์โทร มีโซเชี่ยล เน็ตเวิร์ก ของเรา ที่เขาสามารถเข้าไปดูได้ เป็นการเพิ่มช่องทางให้เราดีอีกทางหนึ่ง” นั่นคือจุดเล็กๆ ที่บางครั้งคนค้าขายก็คิดไม่ถึง

และเมื่อโจทย์หลักที่ตั้งขึ้นมาตั้งแต่แรกว่า จะทำทุกวิถีทางให้คนรู้จักแบรนด์ เจ๊กเม้ง ให้มากที่สุด ทุกอย่างที่เป็นสื่อโฆษณาได้จึงถูกใช้อย่างเต็มที่

ภายในร้าน ไม่ว่าจะเป็นเล่มเมนูรายการอาหาร ไปจนถึงกล่องใส่ช้อนตะเกียบ ก็ถูกใช้เป็นสื่อประชาสัมพันธ์ได้
ใบปลิว แผ่นพับพิมพ์ขาวดำ แต่มีรายละเอียดมากมายเกี่ยวกับร้าน เจ๊กเม้ง อยู่ในนั้นก็เป็นอีก 1 อาวุธที่ลงทุนไม่สูงมากนัก แต่เมื่อส่งเข้าไปถึงมือกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยวเกือบ 1,000 คนในทุกๆ สุดสัปดาห์ ตลอดช่วงระยะเวลา 3 ปี เครื่องมือประชาสัมพันธ์แบบพื้นๆ ชนิดนี้จึงทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สื่อดิจิตอล บนโลกออนไลน์ ช่องทางใหม่ที่ต้นทุนต่ำมาก แต่หากใช้เป็น กรณีศึกษาของ เจ๊กเม้ง ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า มีอานุภาพน่าทึ่ง เพราะการใช้ทั้ง เว็บไซต์www.jekmeng.com ร่วมกับเครื่องมือใหม่ๆ ทั้ง Blog ทวิตเตอร์ และ เฟซบุ๊ก เพื่อเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ในโลกออนไลน์ นอกจากทำให้คนอีกนับหมื่น นับแสนรู้จักแบรนด์แล้ว ยังใช้เป็นช่องทางในการสื่อสาร พูดคุย สอบถาม รับฟังความคิดเห็น จุดดี ข้อด้อย สิ่งที่ลูกค้าไม่ชอบ ฯลฯ รวมถึงการสร้างความผูกพันต่อเนื่องในระยะยาวที่จะกลับมาซื้อซ้ำในอนาคตอีกด้วย

“สมัยก่อน ถ้าเราต้องพึ่งสื่อหลัก อย่าง โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ เราคงต้องใช้เงินเยอะมาก แล้วถามว่าเราแค่ร้านก๋วยเตี๋ยวแค่นี้ จะเอาเงินที่ไหนไปลงโฆษณาทีวี ออกวิทยุ แค่ทำป้ายติดในย่านชุมชนยังโดนถอดเลย 
ขณะที่สื่อออนไลน์ เป็นสื่อฟรี เพียงแต่ต้องมีการวางแผนสินค้าและบริการของเราเอาให้ดี  แล้วจะมาบรรจบกันครับ”
    
.............................................................................. 

  ขายวันหยุด!  
ย้อนกลับไปตรวจสอบวิธีคิดของ “ไอซ์” ธีรศานต์ ในวันที่เขาตัดสินใจเปลี่ยนกลุ่มลูกค้าเป้าหมายมาที่ “นักท่องเที่ยว” คำถามสำคัญที่ตามมาก็คือ “คิดดีแล้วหรือ” แทนที่จะเจาะกลุ่มลูกค้าคนเพชรบุรีในพื้นที่ ซึ่งการันตีว่าเข้ามาเป็นขาประจำได้ตลอดทั้ง 7 วันใน 1 สัปดาห์

ขณะที่โอกาสในการขายนักท่องเที่ยว ซึ่งเดินทางจากกรุงเทพฯ เข้ามา ชะอำ เพชรบุรี หัวหินนั้น ใน 1 สัปดาห์ ขายได้แค่ 2 วัน?

“เปรียบเทียบให้ดูนะครับ คือ ประเทศไทย มีวันเสาร์-อาทิตย์ ต่อเดือนหนึ่งคือ 8 วัน ต่อปี คือ 96 วัน มีวันหยุดนักขัตฤกษ์ ไม่รวมลาพักร้อน ลาป่วย ลากิจ หรือวันอยากหยุด รวมแล้วประเทศไทยมีวันหยุดงานประมาณ 170 วัน คิดเป็นร้อยละ 48 ของทั้งปี เกือบครึ่งหนึ่งเป็นวันหยุด

หลายคนอาจมองว่าวันธรรมดาต้องมากกว่า แต่ความจริงวันหยุดกับวันทำงานของคนไทยนั้น ไม่ต่างกันมาก เมื่อผมมองเห็นตรงนี้ จึงเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ คือเน้นกลุ่มนักท่องเที่ยว”

นั่นเป็นอีก 1 วิธีคิดที่ละเอียด รอบด้าน และถึงที่สุดแล้วทำให้เขาเห็น โอกาสที่คนทั่วไปมองข้ามนั่นเอง

ที่มา : matichon online